วันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2550

วธ.ดันหอ จม.เหตุในท้องถิ่น

วธ.ดันหอ จม.เหตุในท้องถิ่น
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า จากการที่ วธ.ได้กำหนดนโยบายการดำเนินงานจดหมายเหตุและจัดทำบันทึกจดหมายเหตุการณ์สำคัญของจังหวัด ตามพ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 17 (20) ที่กำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จัดให้มีหอจดหมายเหตุท้องถิ่นขึ้นทุกจังหวัดนั้น ขณะนี้ วธ. ได้มีการประชุมร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมให้ท้องถิ่นได้รู้จักการรวบรวม อนุรักษ์ และจัดเก็บรักษาเอกสารจดหมายเหตุของท้องถิ่น ให้เป็นคลังทางปัญญาสำหรับประชาชนได้ศึกษาเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต และใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง แต่อย่างไรก็ตามที่ประชุมมีมติร่วมกันว่า ยังไม่ควรจัดตั้งหอจดหมายเหตุท้องถิ่นขึ้นในขณะนี้ เพราะจะต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างที่ค่อนข้างสูง แต่ควรให้อยู่ในรูปแบบของคณะกรรมการไปก่อน ซึ่งจะประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าคณะจังหวัด นายกอบจ. นายกเทศมนตรี ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัด ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และปราชญ์ท้องถิ่น นายวีระ กล่าวต่อไปว่า สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ โดยมีสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร เป็นผู้ให้บริการความรู้ คำปรึกษา ฝึกอบรมให้แก่ท้องถิ่น ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น เช่น งานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา งานประเพณีท้องถิ่น งานลอยกระทง เป็นต้น นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้ อบจ.ของแต่ละจังหวัด เป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดหาสถานที่ งบประมาณ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในการก่อตั้งหอจดหมายเหตุท้องถิ่นให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป "ขณะนี้ วธ.ได้จัดทำคู่มือการจัดตั้งจดหมายเหตุท้องถิ่นและการจัดทำบันทึกจดหมายเหตุเหตุการณ์สำคัญ เพื่อมอบให้แก่ทุกจังหวัดใช้เป็นแนวทางการจัดตั้ง ไม่ว่าจะเป็นงานวิชาการ วิธีการบันทึกเหตุการณ์สำคัญ รวมทั้งได้มอบหมายให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ และสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ทั้ง 11 แห่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับจังหวัดในการจัดตั้งหอจดหมายเหตุท้องถิ่นต่อไป" ปลัดวธ.กล่าว.